“ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา”
เรียกได้ว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวิทยาศาสตร์ ที่ถูกก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี
พ.ศ.2495
ในนาม “กองอุปกรณ์การศึกษา” โดยท้องฟ้าจำลองกรุงเทพและหอดูดาว ถูกอนุมัติให้สร้างขึ้นภายใต้การดูแลของกองอุปกรณ์การศึกษา โดย
มล.ปิ่น มาลากุล ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษาธิการในขณะนั้น
โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระนางเจ้าสิริกิติ์เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดให้เมื่อวันที่
18 สิงหาคม พ.ศ.2507 ซึ่งเป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติพอดี โดยในเวลาต่อมากองอุปกรณ์การศึกษาก็ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ในปี พ.ศ.2537
หากเพื่อน ๆ คนใดสนใจเข้าเยี่ยมชมที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ก็สามารถทำได้ไม่ยากเย็นอะไร เพียงแค่โดยสาร รถไฟฟ้า BTS มาลงที่สถานีเอกมัย แล้วเดินต่อมาอีกหน่อยก็จะพบกับบริเวณที่เป็นจุดจำหน่ายบัตรเพื่อเข้าชมนิทรรศการต่าง ๆ และท้องฟ้าจำลอง โดยราคาบัตรเข้าชมท้องฟ้าจำลองนั้นแบ่งเป็น 2 ราคา คือรอบภาษาไทย (ผู้ใหญ่ 30 บาท และ 20 บาท สำหรับเด็ก ๆ) กับอีกประเภทที่เป็นรอบภาษาอังกฤษ (ผู้ใหญ่ 50 บาท และ 30 บาท สำหรับเด็ก ๆ) นอกจากนี้ยังมีบัตรเข้าชมนิทรรศการประเภทอื่น ๆ เช่น พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์, โลกใต้น้ำ และส่วนที่จัดแสดงธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ให้เด็ก ๆ และผู้ปกครองเลือกเข้าชมตามอัธยาศัย
สำหรับใครก็ตามที่หลงใหลการดูดาวเป็นชีวิตจิตใจ ขอบอกเลยว่าท่านไม่ควรพลาดที่จะมาเยี่ยมชมที่ ณ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพดูสักครั้ง และไม่ว่าท่านจะเป็นเด็ก หรือวัยหนุ่มสาว ก็สามารถมาท่องเที่ยวได้อย่างไม่จำเป็นต้องเขินอาย อย่างที่เขาบอกกันว่าต่อให้เราโตแค่ไหน ผ่านวุฒิการศึกษาอะไรมามากน้อยเพียงใดก็ตาม แต่การเรียนในชีวิตนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ยังมีอีกหลากหลายเรื่องราวที่เรายังไม่เคยพบ เคยเจอ หรือเคยรู้มาก่อน ดังนั้นขอให้เปิดใจให้กว้าง แล้วเตรียมพบกับความตื่นตาตื่นใจที่เจ้าหน้าที่และทางหน่วยงานได้จัดเตรียมไว้คอยให้บริการอยู่ และสำหรับใครที่เคยมาท่องเที่ยวแล้วนั้น ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะรู้สึกเบื่อหรือไม่สนุก ไม่น่าสนใจเหมือนเมื่อที่เคยมาครั้งแรก เพราะทางหน่วยงานได้มีการปรับปรุงเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ให้มีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
ส่วนแสดงท้องฟ้าจำลองประกอบไปด้วยห้องมืด ที่เรียกว่า “ห้องฉายดาว” ซึ่งเป็นห้องทรงกลมสูงประมาณ 3 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางห้องประมาณ 20.60 เมตร โดยใช้แผ่นอลูมิเนียมสีขาวที่มีความพรุนบุเป็นเพดานของโดมเพื่อรับภาพแสงของดวงดาวที่จะถูกฉายออกมาจากเครื่องฉายดาวของบริษัทสัญชาติเยอรมนี อย่าง คาร์ล ไซซ์ ซึ่งให้บริการเครื่องฉายดวงดาวระบบเลนส์ ใครก็ตามที่มีโอกาสได้ดูดาวจากเครื่องฉายนี้ขอให้ภูมิใจเถิดว่าได้มีโอกาสดูดาวจากเครื่องฉายดาวสุดไฮเทค ที่มีระบบการทำงานค่อนข้างซับซ้อน และเป็นเครื่องแรกที่มีขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์
และนอกจากส่วนการแสดงต่าง ๆ ในห้องโดมแล้ว เพื่อน ๆ ยังสามารถหาความรู้ทางด้านดาราศาสตร์เพิ่มเติมได้จากนิทรรศการที่จัดอยู่ในห้องใกล้เคียง อันประกอบไปด้วย “นิทรรศการส่วนโลกดาราศาสตร์ ชีวิตสัมพันธ์กับดวงดาวอย่างไร โลกและการกำเนิดชีวิต ความเป็นไปในเอกภพ และมนุษย์กับการสำรวจอวกาศ” เรียกได้ว่า ณ ที่นี้ เด็กมาได้ ผู้ใหญ่มายิ่งดี เพราะว่ามาที่นี่ให้ทั้งสาระความรู้ ความสนุกสนานและความบันเทิงอย่างครบครัน