ทะเลหลวง แก้มลิง แหล่งท่องเที่ยว เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจชาวสุโขทัย

                หากจะนึกถึงแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดสุโขทัย คงจะหนีไม่พ้นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อย่างอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์เมืองศรีสัชนาลัยนาลัย ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยวทั้งใน และต่างประเทศ ที่ชื้นชอบการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เนื่องจากสุโขทัยเป็นราชธานีที่มีความเก่าแก่กว่า 700 ปี ชาวสุโขทัยมีจิตศรัทธาทางศาสนามีตั้งแต่สมัยโบราญ และมีการอนุรักษ์ประเพณีทางศาสนาไว้หลายประเพณี อย่างเช่น ประเพณีลอยโคม เผาเทียน เล่นไฟ จึงถือว่าเป็นอีกจังหวัดที่มีความน่าท่องเที่ยวในภาคเหนือตอนล่าง และอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมากนัก แต่อย่างไรก็ดีสุโขทัยยังเป็นอีกจังหวัดที่มีพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม เมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำจากแม่น้ำยมจะท่วมในหลายอำเภอของจังหวัด และเมื่อถึงคราวฤดูแล้ง น้ำก็จะไม่มีสำหรับการทำกสิกรรม เกิดความเดือดร้อนกับชาวบ้านในหลายพื้นที่ของจังหวัด ทำให้มีการจัดการบริหารจัดการน้ำโดยการทำแก้มลิง

จากแนวคิดพระราชดำริการสร้างพื้นที่รับน้ำในยามน้ำมาก และกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามเกิดภัยแล้ง ทำให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เริ่มโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในจังหวัดสุโขทัย และสร้างแก้มลิง ทุ่งทะเลหลวงขึ้นตั้งแต่ปี 2545 และด้วยเหตุนี้ชาวบ้านกว่า 843 หมู่บ้านจึงร่วมกันพัฒนาแหล่งเก็บน้ำดังกล่าว ให้เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของคนภายในจังหวัดสุโขทัย โดยสร้างเป็นเนินรูปใบโพธิ์กลางทุ่งทะเลหลวง และประดิษฐถาน พระพุทธรัตนสิริสุโขทัย ณ มณฑปจตุรมุข เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวบ้าน และยังเป็นที่ทำกิจกรรมทางศาสนาในงานบุญประเพณีต่าง ๆ ทั้งยังช่วยสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวในท้องถิ่น ทำให้คนในจังหวัดเกิดการสร้างรายได้ ได้ขายงานศิลปะที่มีชื่อเสียงอย่าง เครื่องสังคโลก หรืองานเครื่องเงินที่มีชื่อเสียงของจังหวัดทำสังคมให้มีความเจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น

นอกเหนือจากการน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวราชการที่ 9 เรื่องการจัดการปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างน้ำท่วม ฝนแล้ง และการร่วมแรงร่วมใจสร้างเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจทางศาสนาให้กับชาวสุโขทัย ทุ่งทะเลหลวงยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกสถานหนึ่งของจังหวัดสุโขทัย และมีผู้มาชื้นชมธรรมชาติที่เกิดจากฝีมือมนุษย์มากมายไม่ใช่แค่ช่วงเทศกาล สำหรับนักท่องเที่ยวที่รักในการถ่ายภาพแนว Bird eye (ภาพมุมสูง) ไม่ว่าจะถ่ายด้วยกล่องธรรมดาจากเครื่องบิน หรือการใช้เทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างโดรนบินเหนือบริเวณทุ่งทะเลหลวงจะทำให้เห็นรูปหัวใจกลางเกาะ และในแต่ละช่วงเวลายังให้อารมณ์ของภาพที่แตกต่างกันออกไปเป็นอีกกิจกรรมการผ่อนคลายที่สามารถทำได้ทุกเมื่อที่ไปเที่ยวชม ไม่จำกัดแค่ช่วงเทศกาล เหนือสิ่งอื่นใดความประทับใจของการมาเยือนไม่ใช่เพียงความสวยงามของสถานที่ หากแต่เป็นวัฒนธรรม การถ่ายทอดวิถีการใช้ชีวิตของคนมนชุมชนที่มีความเป็นมิตรซึ่งเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการท่องเที่ยวภายในประเทศไทย

 

เที่ยวนาแห้ว ทำนาแต่ไม่ปลูกแห้ว ลึกซึ้งวิถีเลย

ถ้านึกถึงจังหวัดเลย ส่วนมากนักท่องเที่ยวจะชอบเห็นภาพเชียงคาน ภูเรือ หรือเดินขึ้นภูกระดึง และพวกเขาเหล่านั้นก็จะไปกระจุกตัวกันอยู่ใน 3 ที่นั้นเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะนิยมมาในฤดูหนาว คือถ้าเลือกไปภูเรือ นักท่องเที่ยวก็จะเลยขึ้นไปกราบพระธาตุศรีสองรักษ์ที่ด่านซ้าย หรือถ้าเดินขึ้นภูกระดึง พอลงจากภูก็จะพากันกลับภูมิลำเนาในวันนั้นเสียเป็นส่วนใหญ่ หรือที่เชียงคานพอเริ่มอากาศหนาวหน่อย คนก็มากระจุกตัวอยู่ที่แนวบ้านไม้ริมฝั่งโขงกันแล้ว ถ้ามองอย่างนี้ ก็เหมือนจังหวัดเลยมีสถานที่ท่องเที่ยวอยู่เพียงไม่กี่ที่ แต่ที่จริงแล้ว จังหวัดเลยเป็นจังหวัดที่มีเอกลักษณ์ทั้งด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม ในที่นี้หากมีสถานที่หนึ่งที่รวมเอาไว้ครบทั้ง 2 อย่าง สถานที่นั้น ก็คือ อำเภอนาแห้ว

ด่านซ้าย-นาแห้ว ในอดีตเป็นที่ซ่อนตัวของกลุ่มคอมมิวนิสต์ เพราะมีภูมิประเทศเข้าถึงยาก ลึกซับซ้อน แต่ในปัจจุบันจากความสงบทำให้เป็นสถานที่ที่ควรแก่การไปพักผ่อน โดยอำเภอนาแห้วอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองเลย 109 กิโลเมตร หรือจากสามแยกพระธาตุศรีสองรักษ์ โดยขับไปตามถนนหมายเลข 2113 ประมาณ 30 กิโลเมตร ซึ่งเป็นถนนลาดยาง มีทัศนียภาพภูเขา มีเส้นทางคดเคี้ยวเป็นบางช่วง รวม ๆ แล้วนักท่องเที่ยวสามารถดื่มด่ำกับป่าไม้ที่รายล้อมอยู่ตลอดทางได้ แต่ควรระวังเพราะมีจุดถนนลื่นหลายแห่ง และโค้งหักศอกสำคัญ 1 จุดที่เป็นโค้งและทางลาดลง ถือว่าตื่นเต้นเร้าใจ เหมาะกับผู้ชื่นชอบความท้าทายอยู่พอสมควร

ในตัวอำเภอนาแห้วมีแหล่งธรรมชาติ ทั้งน้ำตก อุทยานแห่งชาติ และภูเขาสูงหลายลูก เช่น อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย ที่ซึ่งผู้มาเยี่ยมเยือนจะได้สัมผัสบรรยากาศอันเงียบสงบ หลุดพ้นจากความเครียดในชีวิตประจำวัน ปลอดโปร่งเพราะอากาศบริสุทธิ์  และทางด้านวัฒนธรรมก็มีวัดเก่าแก่กว่า 400 ปี เช่น “วัดศรีโพธิ์ชัย” ที่มีพระประธานซึ่งสร้างพร้อมกันกับวัดอยู่ในโบสถ์เก่าที่มีภาพเขียนสีศิลปะล้านช้าง แสดงความเก่าแก่งดงาม และ”วัดโพธิ์ชัย (นาพึง)” ที่เป็นสถานที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปในตำนานคู่บ้านคู่เมือง  นาแห้วอย่าง “องค์แสน” (ฝนแสนห่า อยู่ที่ใดที่นั่นจะไม่มีการแห้งแล้ง) ที่ทางวัดได้เอากรงมาล้อมองค์แสนเพื่อป้องกันการถูกลักขโมย

ในด้านธรรมชาติ ต้องถือว่ามีหลายแหล่งท่องเที่ยว ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวอิ่มเอมกับความเป็นนาแห้ว แต่ถ้าจะยกตัวอย่าง ต้องชี้ไปที่ “น้ำตกตาดเหือง” เพราะเป็นน้ำตกที่มีลักษณะอันน่าประทับใจจากความสูง ความสวย ป่าล้อมรอบ มีมุมให้พักผ่อน หลีกหนีจากผู้คน อีกทั้งอยู่ติดกับป่ารอยต่อพรมแดนไทย-ลาว อีกทั้งมีวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นชายแดนที่เงียบสงบ เพราะนักท่องเที่ยวในปัจจุบันก็ยังมีค่อนข้างน้อย จึงนับว่ามีทรัพยากรการท่องเที่ยวมีความสมบูรณ์
ทั้งหมดนี้อธิบายเป็นตัวหนังสือก็ไม่สามารถถ่ายทอดความประทับใจนั้นได้ แนะนำให้ทุกท่านไปสัมผัสเอง แล้วจะรู้ว่ารสชาตินาแห้วนั้นเป็นอย่างไร