อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ เป็นสถานที่ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยใช้เวลาสร้างถึง 28 ปี เพื่อเป็นการย้ำเตือนถึงประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทย และเพื่อรำลึกเหตุการณ์วันมหาวิปโยก ที่ตั้งอยู่ที่ ถนนราชดำเนินกลาง
อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เหตุการณ์คราวนั้นเกิดการจราจลขึ้นในกรุงเทพมหานคร มีคนล้มตายจากการปราบจราจลจำนวนมาก ภายหลังเหตุการณ์มาเกือบ 30 ปี จึงได้สร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ขึ้นในบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งหน่วยงานราชการที่ทำงานเกี่ยวกับการปราบปรามคอรรัปชั่นในขณะนั้น
อนุสรณ์สถานแห่งนี้แบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ ชั้นแรกอยู่บนดิน และชั้นใต้ดินอีก 2 ชั้น โดยทั้ง 3 ชั้นนั้นจะแบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนโถงนิทรรศการ ส่วนลานเอนกประสงค์เพื่อการพักผ่อนและการจัดงานทางศิลปวัฒนธรรม ส่วนห้องอ่านหนังสือและสำนักงาน และส่วนห้องประชุม
ส่วนที่น่าสนใจและมีความโดดเด่นที่สุดคือสถูปวีรชน ซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางโถงนิทรรศการในชั้นแรก มัลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมเรียวแหลมขึ้นไปคล้ายสถูปเจดีย์อย่างที่พบเห็นทั่วไป ยอดสูงสุดเป็นผลึกเรซิ่นใส มีรอยแหว่งเว้า ซึ่งหมายถึงการเดินทางสู่เป้าหมายสูงสุดย่อมมีอุปสรรคระหว่างทาง นอกจานี้ที่ฐานสถูปยังมีแผ่นอิฐจารึกรายชื่อวีรชนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อีกจำนวน 72 คน